วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

หรือเราไม่ควรคาดหวังความทุ่มเทจากคนรุ่นใหม่อีกต่อไปแล้ว

เท่าที่พบเจอหนุ่มๆ สาวๆ ในวัย 20-25 ปี พอจะจับความต้องการในชีวิต (ช่วงนี้) ของพวกเขาได้ว่า ในภาพรวมพวกเขาไม่ได้ให้น้ำหนักกับการงานมากเท่าคนรุ่นเรา (ไม่ต้องนับรุ่นที่แก่กว่าเรา) ซึ่งไม่ได้หมายความว่าพวกเขาผิดบาปอะไร เพราะทั้งเขาและเราก็เป็นผลผลิตของยุคสมัยไปคนละแบบ
ประเด็นคือ หากเรายังคาดหวังความทุ่มเท ใส่ใจ หามรุ่งหามค่ำเพื่อองค์กร เพื่อบริษัท หรืออะไรทำนองนั้น โดยตั้งเป้าเอาไว้ในเกณฑ์เดียวกันกับคนรุ่นเรา ก็มีโอกาสมากที่จะผิดหวัง
ส่วนตัวแล้วคิดเรื่องทีมเอ ทีมบี มานานแล้ว กะว่าในอนาคตหากยังจะมีพนักงานออฟฟิศ บริษัททั้งหลายอาจต้องจ้างพนักงานแบบสลับกันทำงาน เช่น ทีมเอทำจันทร์ถึงพุธ แล้วทีมบีมาต่อพฤหัสศุกร์เสาร์ หรือทีมเอทำงานเดือนคี่ ทีมบีทำงานเดือนคู่ หรือผลัดกันคนละไตรมาส หรือจะจัดสรรยังไงก็แล้วแต่ หลักการคือไม่มีใครทำงานยาวๆ ต่อเนื่องโดยไม่ได้หยุดไปเที่ยว ไม่ได้มีโอกาสไปลั้นลาหาความสุขอย่างอื่นใส่ชีวิต
เพียงแค่นี่อาจอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน บริษัทต่างๆ ยังคาดหวังจากพนักงานเช่นเดิม แต่พนักงานไม่ได้คาดหวังกับตัวเองต่อหน้าที่การงานเหมือนเดิมแล้ว ดูเหมือนพวกเขาคาดหวังกับชีวิตในนิยามที่กว้างกว่าการงาน คือใฝ่หาความสุข การเดินทาง การผจญภัย และงานอดิเรกต่างๆ นานา ที่สำคัญ ครอบครัวของพวกเขาก็มั่นคงพอที่พวกเขาจะรู้สึกสบายๆ กับการไม่ทำงานสักปีสองปี (หลังจากนี้หลายๆ ปี อันนี้ไม่รู้นะ)
ไล่ดูหน้าฟีดของหนุ่มๆ สาวๆ มีภาพท่องเที่ยวขึ้นตลอดเวลา รวมถึงคนรุ่นเราๆ ด้วย
ความรู้สึกต่อการรับผิดชอบชีวิตน่าจะต่างไปพอควร พ่อแม่ทำงานหาเงินไว้พอสมควรแล้ว คนรุ่นลูกก็ไม่ต้องทำงานหนักเพื่อเก็บเงินไปดูแลรักษาพ่อแม่ตอนป่วย (พ่อแม่ดูแลตัวเองกันได้อยู่แล้ว) แถมความคิดอยากมีลูกก็ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ กระทั่งแต่งงานก็อาจจะน้อยลงด้วยซ้ำไหมหว่า จึงไม่ต้องห่วงอนาคตหรือวางแผนมากมายอะไร
ชีวิตผูกกับคนนู้นคนนี้น้อยลง ไลฟ์สไตล์ที่อยู่เดี่ยวมากขึ้น คอนโดฯ หรือกระทั่งในบ้านเดียวกับพ่อแม่ แต่ก็ “เดี่ยว” ออกมากว่าแต่ก่อนมาก ทำให้ไม่รู้สึกว่าจะต้องแบกรับความรับผิดชอบอะไรมากมายนัก
ชีวิตจึง “พลิ้ว” ได้พอดู
ครั้นจะกักขังตัวเองไว้กับงานหนักในออฟฟิศก็ฝืนใจไม่ได้นาน ในเมื่อคุณค่าของชีวิตสำหรับพวกเขาไม่ใช่เรื่อง “งาน” เพียงอย่างเดียว แต่มันหมายถึง “การใช้ชีวิต” “สนุกกับประสบการณ์” “ความสุขในวันนี้” “เกิดมาครั้งเดียว เอาให้คุ้ม” อะไรทำนองนั้น
ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาแปลกประหลาดอะไร แค่คิดว่าผู้ใหญ่จะปรับเปลี่ยนตัวเองยังไงเพื่ออยู่ร่วมและทำงานกับคนส่วนใหญ่ในรุ่นนี้ ไม่ใช่ไม่เก่งนะ คนรุ่นนี้โคตรเก่งเลย แต่เขาไม่ได้อยากใช้ความเก่งไปกับอะไรเดิมๆ ซ้ำๆ และไม่ได้มุ่งหวังเป็นที่หนึ่งอะไรขนาดนั้นอีกต่อไปแล้วเท่านั้นเอง
แค่คิดขึ้นมา เลยอยากแชร์กับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ อยากรู้ว่าคิดเห็นกันเช่นไรในประเด็นนี้ครับ

ตอนแรกๆ ก็เชื่อเหมือนกันว่าชีวิตวัยเราๆ จะ “พลิ้ว” ได้เยอะ แต่เดี๋ยวพอถึงจุดหนึ่งจะเริ่มรู้ตัว ความคิดแบบอยากพักมั่ง ออกจากงาน หยุดยาวๆ ไปเที่ยว ค้นหาตัวเอง ใช้ชีวิต ถ้าที่บ้านไม่พรีเมี่ยมพอหรือเงินเก็บเริ่มเหลือน้อย ก็จะถูกอารมณ์อีกด้านเริ่มครอบงำ เมื่อเห็นเพื่อนร่วมวัยเดียวกันบางกลุ่มเริ่มมีครอบครัว (ลูกแม่งน่ารักจัง บีบแก้มทีดิ) หรือเริ่มตั้งธุรกิจเป็นของตนเอง เริ่มได้รับผลตอบแทนจากการตรากตรำทำงานที่พลิ้วน้อยกว่าในช่วงแรก พวกที่พลิ้วมากๆ ก็อาจจะกลับเข้าสู่ลูปที่อยากเห็นตัวเองยั่งยืน มั่นคงในตอนอายุมากขึ้น
พูดยากอะ พื้นฐานชีวิต เป้าหมาย ปัจจัย ความจำเป็นต่างๆ ของแต่ละคนไม่เหมือนกันจริงๆ โดยสรุปคืออยากเสริมว่าคนวัยเรา (วัย 20-25 ปี, เจนวาย หรืออะไรก็แล้วแต่) บางคนก็เริ่มอยากมีชีวิตมั่งคั่งมั่นคงแล้วเหมือนกัน โดยอยากเจองานที่ใช่ตัวของตัวเอง แล้วทำมันแบบลืมตายเพราะทำสิ่งที่รักจนไม่คิดว่ากำลังทำงานอยู่ (แต่ต้องเงินดีนะ 55555+ ดังนั้นก็ต้องหางานนั้นให้เจอ มีหลายคนให้ hint ว่า งานนั้นต้องเกี่ยวข้องกับไอเดีย การแก้ปัญหาที่ส่งผลต่อคนส่วนใหญ่บนโลก มันเลยออกไปเป็นสายทำ app, tech startups ซะเยอะ)

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น