Skip to content
บทสัมภาษณ์ : อาจารย์จุลพร นันทพานิช - เดินหารากเหง้า สถาปัตยกรรมสีเขียว » โดย สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ - นิตยสาร สารคดีจุลพร นันทพานิช…เกือบจะเรียนไม่จบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และเกือบจะตายด้วยไข้มาลาเรีย
แต่วันนี้เขาเป็นอาจารย์พิเศษของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
และได้รับการคัดเลือกให้เป็นอาจารย์ดีเด่นจากการสอนวิชาประยุกต์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นให้แก่นักศึกษาระดับปริญญาตรี
ด้วยกระบวนการสอนและถ่ายทอดประสบการณ์อย่างคนรู้จริง จนผลงานของนักศึกษาโดดเด่นสร้างชื่อเสียงให้แก่คณะในระดับประเทศ
สารคดี…ชวนคุณผู้อ่านค้นหาความหมาย “ลึกๆ” ของความ “เขียว” ในสถาปัตยกรรมแห่งชีวิตของชายผู้นี้
.
----------------------------------
.
Q1 : จริง ๆ แล้วสถาปัตยกรรมมีผลต่อมนุษย์อย่างไรบ้าง ?
การออกแบบสถาปัตยกรรมใด ๆ มีผลต่อจิตใจของมนุษย์ทั้งสิ้น
เมื่อมนุษย์เข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน สภาพแวดล้อมนั้นก็จะส่งผลต่อความคิดจิตใจของมนุษย์ทันที
สถาปัตยกรรมที่ไม่ดีทำให้คนป่วยได้ แต่การออกแบบที่ดีจะทำให้คนไม่ป่วย เรียกว่าจิตวิทยาสภาพแวดล้อม
แต่สถาปนิกบ้านเรายังไม่ค่อยสนใจเรื่องนี้ ทั้งที่เป็นประเด็นสำคัญมาก
ทุกวันนี้ผมคิดว่าเราอยู่ในสถาปัตยกรรมที่ทำให้คนอ่อนแอลง
สังเกตเวลาผมพาลูกศิษย์ไปเดินขึ้นเขา ลูกศิษย์ไม่เคยเดินขึ้นเขาตามผมทัน ทั้งที่ผมอายุมากกว่าพ่อของเขาแล้ว
แสดงว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่แข็งแรง อาจเพราะโตมากับร้านสะดวกซื้อ กินแต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
ผมคิดว่าเราต้องตั้งข้อสังเกตแล้วว่าอะไรที่ทำให้คนรุ่นหลังอ่อนแอกว่าคนรุ่นก่อน ผมว่าเชื้อโรคก็ไม่ได้ต่างกัน แต่คนอ่อนแอลง เพราะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทำให้อ่อนแอ
ต้องกลับมาดูที่สถาปัตยกรรม
สถาปัตยกรรมเป็นตัวบ่งชี้ว่าคุณอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน มันทำให้คนเป็นอย่างไรก็ได้
.
----------------------------------
.
Q2 : แล้วอะไรในสถาปัตยกรรมปัจจุบันที่ทำให้คนอ่อนแอลง ?
1
“วัสดุ”
เรื่องการใช้วัสดุมาก่อนเลย วัสดุแต่ละชนิดมีผลต่อสุขภาพแตกต่างกัน
ยกตัวอย่างว่าทำไมเราใส่เสื้อผ้าโพลีเอสเตอร์แล้วเรานอนไม่สบาย เพราะมันเกิดไฟฟ้าสถิตเหนี่ยวนำที่ผิวหนัง
แต่ถ้าเราใส่ผ้าฝ้าย เรานอนสบาย
หรือถ้าเราไปนอนบนเตียงที่เป็นโพลีเอสเตอร์ มันก็นอนไม่สบาย ไม่ใช่เพราะว่าร้อนนะ แต่เพราะมีไฟฟ้าสถิตเหนี่ยวนำ
เดี๋ยวนี้เขาพบแล้วว่าคนที่เป็นโรคมะเร็งในเม็ดเลือด ส่วนใหญ่บ้านอยู่ใกล้สายไฟฟ้าแรงสูงที่ส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมา
ถ้าบ้านเราอยู่ใกล้สายไฟฟ้าแรงสูง แล้วหลังคาบ้านหรือเสาบ้านใช้เหล็กก่อสร้าง เหล็กก็จะเหนี่ยวนำคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามาใกล้ตัวเรา
เบาะ ๆ ก็อาจอารมณ์ไม่ดี เข้าไปอยู่แล้วหงุดหงิด ถ้าหนักก็อาจเป็นมะเร็งในเม็ดเลือด
เพราะระบบที่เล็กที่สุดคือเซลล์ในร่างกายเราถูกคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ารบกวนจนรวนหมด
.
-------------
.
2
“ห้องแอร์ - การระบายอากาศ”
แล้วเราอยู่ในบ้านนอนห้องแอร์ทุกวัน วัสดุทุกอย่างในบ้านไม่ว่าจะเป็นเคสคอมพิวเตอร์ พลาสติก ไวนิล กระเบื้องยาง มันปล่อยสารเคมีออกมาในอากาศ
สีที่ใช้ทาบ้านอาจมีโลหะหนักอย่างแคดเมียมหรือโคบอลต์สูง สถาปนิกไทยก็ไม่รู้
ถ้าคนขายสีบอกปลอดภัยก็เชื่อแล้วแต่ไม่เคยตรวจสอบอย่างละเอียด บ้านที่ดีก็ควรเป็นบ้านที่ไม่ใช้วัสดุสังเคราะห์
ถ้าบ้านออกแบบการระบายอากาศไม่ดี หรืออยู่ในห้องที่อากาศไม่ถ่ายเทอย่างห้องแอร์ อยู่ไปนาน ๆ ก็กลายเป็นมะเร็งปอดได้
ส่วนบ้านใครรวยปูหินแกรนิต นี่ยิ่งหนัก
เพราะเขาพบว่าหินแกรนิตจะปล่อยเรดอน (radon – ก๊าซที่มีสารกัมมันตรังสี) ออกมา
ความจริงวัตถุเกือบทุกอย่างปล่อยเรดอนมากน้อยต่างกัน แต่หินแกรนิตมีเรดอนสูง ต่างประเทศตื่นตัวเรื่องนี้มาก ยุโรปเขาห้ามใช้หินแกรนิตมาตกแต่งบ้านแล้ว
ตัวอย่างที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ในดินมีเรดอนสูงมาก จนชาวบ้านกลายเป็นโรคมะเร็งปอดสูงติดอันดับของประเทศ
ชาวบ้านสร้างบ้านติดพื้นด้วย ทำให้สูดดมเรดอนง่าย ถ้าเป็นสมัยก่อนเราสร้างบ้านแบบยกพื้น โอกาสเป็นจะน้อยลง เพราะอากาศถ่ายเท
ใครรู้บ้างว่าเครื่องปรับอากาศของเราล้างแอร์กันครั้งสุดท้ายเมื่อไร มันมีเชื้อโรคอะไรต่าง ๆ อยู่ในนั้นเต็มไปหมด
เราคิดแต่ว่าเปิดปุ๊บขอให้มีไอเย็นออกมา แล้วมีระบบให้อากาศใหม่เข้ามาในห้องหรือเปล่า ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มี เพราะมักใช้พฤติกรรมของคนตอนเปิดปิดประตูเอาอากาศใหม่เข้ามาแทน
แต่ถ้าคิดถึงความปลอดภัย...
เราต้องออกแบบให้มีระบบนำอากาศใหม่เข้ามาไว้ก่อน ปัญหาคือเห็นว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก ก็เลยไม่มีใครทำกัน
ตึกอาคารทุกวันนี้ติดแอร์หมด คนก็ต้องทำงานอยู่ในสถาปัตยกรรมแบบนี้
เราคิดแต่อยู่ในห้องแอร์ แล้วใช้แอร์แบบประหยัดพลังงานที่สุด มันเป็นระบบปิดแบบตู้เย็นไฮเทค
แต่ภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์จะเป็นอย่างไร เราไม่ได้คิด มันมีโรคที่เกิดจากการอยู่ในอาคารติดแอร์ เรียกว่า SBS หรือ Sick Building Syndrome แล้ว
.
-------------
.
3
“เหงื่อ”
คิดดูว่าทำไมมนุษย์ต้องมีเหงื่อ
เหงื่อคือการระบายความร้อนและขับยูริกออกมาจากร่างกาย ถ้าเราอยู่ในห้องแอร์ ไม่มีเหงื่อ ยูริกจะไปไหน ก็ลงไปที่ตับไต
แล้วของเสียไม่ได้มียูริกอย่างเดียว มีอีกหลายอย่างที่ร่างกายต้องการขับออก
สภาพปรกติทุกวันเราจึงต้องมีเหงื่อซึม ๆ แต่คนกลับไม่ชอบเหงื่อ หนีไปอยู่ในห้องแอร์เพราะรู้สึกสบาย แต่พิษไปลงที่ตับไต ทำให้อวัยวะ ๒ อย่างนี้ต้องทำงานหนัก
เราจะพบว่าคนเป็นโรคมะเร็งตับกันมากขึ้น แม้จะไม่ใช่คนที่กินเหล้า
แล้วเรากินอาหารแบบฝรั่งที่มีแต่ไขมัน เหงื่อก็ไม่ออก นั่งอยู่ทั้งวัน เกิดปรากฏการณ์โรคช็อกโกแลตซีสต์กลายเป็นโรคประจำตัวของสาวออฟฟิซ
ผมเชื่อว่าร่างกายของเราคือ โฮโมเซเปียนส์ มันออกแบบมาให้อยู่กลางแจ้ง ไม่ได้ออกแบบมาให้นั่งอยู่ในออฟฟิซจนค่ำ
มันเลยเกิดอาการป่วยที่ไม่รู้สาเหตุเพราะเราบิดเบือนตัวเอง
สถาปนิกบ้านเรามัวแต่ติดกับการคิดเรื่องรูปทรงปรากฏของสถาปัตย์ แต่ไม่ได้มองเนื้อหาจริงๆ ว่าสถาปัตย์ทำงานอย่างไร
มันมีทั้งเรื่องของจิตวิทยาและเทคนิค ทำอย่างไรให้คนอยู่แล้วสบายที่สุด จะเปิดช่องรับลม หรือรับแสงแดดอย่างไร ไม่ได้คิด
คิดแต่ว่า...ติดแอร์แล้วปรับอุณหภูมิ ๒๕ องศาเซลเซียส อ้างว่าใช้แอร์ประหยัดไฟนะ
.
----------------------------------
.
Q3 : ทำไมสถาปนิกบ้านเราส่วนใหญ่คิดแต่เรื่องการออกแบบตึกให้สวยๆ ?
ผมเรียกว่าความเบาปัญญาของคนมีความรู้
สถาปนิกบ้านเราที่คิดฟอร์มเก๋ ๆ สวย ๆ ก็ลอกแบบมาจากฝรั่งที สิงคโปร์ที ดูจากคนอื่นมา แต่แก่นสารลึก ๆ ไม่มี
มันเริ่มจากการไม่อยากเป็นตัวเองก่อน เลยผลิตงานได้แค่นี้ คิดแต่เรื่องฟอร์มอย่างเดียว อยากจะเป็นเหมือนสถาปนิกดัง ๆ ในต่างประเทศให้ได้
ก็เลยคิดว่าทำอย่างไรให้ฟอร์มหวือหวาไว้ก่อน แต่สถาปนิกที่คิดหนทางอื่นก็มีไม่น้อยนะครับ
ในอังกฤษเดี๋ยวนี้ ใครทำฟอร์มหวือหวา เขาไม่สนใจแล้ว เขาสนใจว่างานออกแบบนี้เว้นที่ว่างให้กบเขียดมันเดินผ่าน มีระเบียงให้สัตว์อยู่หรือเปล่า
ใครคิดแบบนี้ คนอังกฤษจะทึ่งมาก น่าสนใจกว่า เขาหันไปเน้นเรื่องทางนิเวศวิทยาและสังคมกันแล้ว ไม่เห็นแก่นสารว่าต้องไปยึดถือเรื่องฟอร์ม
แต่สถาปนิกไทยบางคนตามไม่ทัน เพราะการเข้าถึงองค์ความรู้อาจมีอะไรบังตา อาจติดกับมายาคติบางอย่าง
อาจจะตั้งแต่การแต่งตัวใส่สูทผูกเนกไท ทั้งที่อากาศบ้านเราร้อนมากแต่ทำไมชอบใส่สูทสีดำกัน
.
----------------------------------
.
Q4 : พอได้เป็นอาจารย์แล้วมีวิธีสอนลูกศิษย์อย่างไร ?
สิ่งที่ผมออกแบบการสอนให้เด็กมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตอนนี้ คือสิ่งที่ผมอยากเรียนในสมัยก่อน
ทุกวันนี้สังคมยอมรับแล้วว่าไม่ต้องออกแบบคอมเพล็กซ์ก็ได้ เพราะจบไปจะมีสักกี่คนได้ทำคอมเพล็กซ์จริง ๆ
วิชาชีพสถาปัตย์ถูกตีความไปกว้างขึ้น งานชุมชน งานเชิงนิเวศวิทยา งานเชิงวัฒนธรรม พอผมจับประเด็นได้ก็รู้ว่าจะสอนอย่างไร เพราะผมทำงานจริงมาตลอด
ผมจะพาเด็กไปเดินป่า ไปดอยลังกา แม่โถ แม่เงา พาไปดูบรรยากาศ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นมาก เราจะอธิบายให้เขาฟัง เช่นเวลาเดินไปแล้วเราไปนั่งพักใต้ร่มไม้
ผมจะอธิบายว่าก่อนหน้านี้ร่มไม้ไม่ใช่สถาปัตยกรรม แต่พอคุณนั่งใต้ร่มไม้ ร่มไม้กลายเป็นสถาปัตยกรรมทันที
เพราะมนุษย์กำหนดความหมายใหม่ของพื้นที่ใต้ร่มไม้ พรมแดนระหว่างเด็กกับธรรมชาติจะเริ่มละลายจากการใช้ชีวิตกลางแจ้ง เรื่องของภายในกับภายนอกหายไป
ผมพยายามอธิบายให้เด็กเข้าใจ ให้เขาหลุดออกจากการแบ่งแยกว่าสถาปัตยกรรมต้องทำด้วยปูน ติดกระจก
ธรรมชาติเป็นสถาปัตยกรรม ถ้าเรากำหนดความหมายให้มัน และนี่เป็นสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืน เพราะเราไม่ได้ไปเอาทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป
ผมจะให้เด็กลงพื้นที่ ให้มีประสบการณ์จริง ๆ เด็กจะได้เห็นอะไรหลายอย่าง เห็นว่ากะเหรี่ยงอยู่อย่างไร และนำกลับมาสร้างงานด้วยตัวเขาเอง
พอผมเริ่มมีชื่อเสียง เคยมีคนถามลูกศิษย์ว่าเรียนกับอาจารย์จุลพรแล้วเคยเดินป่ากับอาจารย์หรือเปล่า ถ้าใครไม่ได้เดินดูเหมือนจะไม่ผ่านหลักสูตร
ผลจากการที่ผมได้มาสอนมันบังคับให้เราต้องเรียบเรียงและพัฒนาความคิดให้เป็นระบบ
ได้พบกับความหลากหลายของความคิดคนที่จะต้องโต้ตอบกับเรา เด็ก ๑๐ คนก็ ๑๐ แบบ เพราะพื้นฐานแต่ละคนไม่เหมือนกัน
แต่มาทำอะไรในเรื่องเดียวกัน ก็สนุก มันทำให้เราพัฒนาความคิดเรื่องนี้ได้เร็วขึ้น
.
----------------------------------
.
👉 ฝากทิ้งท้าย
หลายคนอยากอยู่บ้านแบบในแมกกาซีน แต่บ้านแบบนั้นมันไม่มีชีวิตจริง ๆ และคุณไม่มีทางอยู่แบบนั้น หนังสือบ้านทำหน้าที่ขายฝันให้เราว่าสักวันหนึ่งเราจะมีบ้านแบบนั้น
ถ้าเราเข้าใจปรัชญาแบบนี้ คนทั้งประเทศต้องกลับมามองตัวเอง เข้าใจว่าการอยู่แบบธรรมดา ๆ มีความงดงามทั้งสิ้น เรามีของดีของเราเอง แต่มักมองไม่เห็น ต้องรอฝรั่งมาบอก
เราขาดความเข้าใจตัวเอง ไม่มีภูมิเรื่องตัวเองพอ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า อาหาร เราใส่แบบฝรั่ง กินแบบฝรั่งก็กลายเป็นมะเร็ง
ที่อยู่อาศัยก็เหมือนกัน พอตอนนี้ฝรั่งกลับมาสนใจความเป็นตะวันออก เราก็ตามเขามา ทั้งที่รากเดิมของเราเป็นอยู่แล้ว
ทุกวันนี้เราพึ่งตัวเองไม่ได้ไปเรื่อย ๆ และมีคนจำนวนหนึ่งชอบให้เราพึ่งตัวเองไม่ได้ เพราะเขาจะได้ขายของ
พวกอุตสาหกรรมชอบให้คนไม่ต้องพึ่งตนเอง เขาจะได้ขายของสำเร็จรูปให้เรากิน ทำเสื้อผ้าสำเร็จรูป บ้านสำเร็จรูป
ระบบคิดแบบนี้สุดท้ายก็ต้องบริโภคเกินความจำเป็น ซึ่งมาจากรากคือเราปรับตัวเองให้เข้ากับธรรมชาติไม่ได้
ผมเชื่อว่าถ้าคนส่วนใหญ่พึ่งตนเองได้ เราจะพบกับหนทางแห่งความยั่งยืนจริง ๆ
ทำไมคนส่วนใหญ่ปรับตัวเองให้เข้ากับธรรมชาติไม่ได้
มันเริ่มจากมายาคติแท้ ๆ แล้วร่างกายเราวิวัฒน์ไปตาม
มายาคติบอกว่าต้องอยู่แบบนี้ถึงจะมีรสนิยม พอลองอยู่ดู ร่างกายก็เสพความสบายแบบนั้นตามไปด้วย
พอร่างกายวิวัฒน์ไป จะกลับไปอยู่อย่างไม่ปิดกั้นธรรมชาติก็กลายเป็นเรื่องลำบากลำบน แต่ความจริงเราฝึกร่างกายเราได้
ผมไปที่ไหน เดี๋ยวนี้ทุกคนนอนห้องแอร์กันหมดแล้ว หาคนไม่นอนห้องแอร์ยากมาก ไปถามรีสอร์ตทั่วประเทศ อยู่ริมทะเล หนาวจะตาย ยังต้องติดแอร์ ชุมพรหรือเชียงราย เหมือนกันหมด
อาหารก็เป็นการออกแบบให้เหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่น แต่เราไม่กินอาหารที่ออกแบบมาสำหรับท้องถิ่นเรา ไปกินของอีกท้องถิ่นหนึ่ง ก็เกิดปัญหา
เรื่องอาหารเป็นภูมิปัญญาที่สะสมกันมานาน ทำไมหน้าร้อนต้องกินนี่ ทำไมหน้าหนาวต้องกินนี่ หน้าฝนกินนี่
ธรรมชาติมันออกตามฤดูให้เรากิน ไม่มีนอกฤดู ถ้าเราเก็บตามฤดูกาลมากินเราก็สัมพันธ์กับธรรมชาติได้อย่างเหมาะสม
แม้แต่เรื่องความสะอาด เราก็ต้องสะอาดแบบฝรั่งที่สะอาดจนเกินไป ทำให้เราไม่มีภูมิต้านทาน
ทุนนิยม อุตสาหกรรม ไม่ได้ทำให้เราผาสุกจริงๆ เพราะเขาจะไม่ลดการบริโภค มีแต่หาทางขยายผลผลิต
ถ้าเรากลับมาดูหน่วยเล็กๆ คือตัวเรา วิถีชีวิตเราว่าจะกินอย่างไร อยู่อย่างไร อย่างขี่จักรยาน บอกว่าฝนตกขี่ไม่ได้ ผมเอาเสื้อฝนคลุมก็ขี่ได้ ไม่เห็นมีปัญหา เรื่องไม่นอนห้องแอร์ทุกคนก็ทำได้ ปัญหาคืออยู่ที่จะทำหรือเปล่าเท่านั้นเอง
สิ่งที่ผมพูดมาจากความเข้าใจในธรรมชาติจริง ๆ และผมพูดอย่างไร ตัวผมเองก็ทำอย่างนั้น อยู่กลางแจ้ง ใช้แรงงาน ผมเป็นแบบนั้น
และผมพิสูจน์แล้วว่า...มันดีต่อชีวิต
Credit บทสัมภาษณ์ : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ | นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 337 มีนาคม 2556
.
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น